จังหวัดนครสวรรค์
ประวัติจังหวัดนครสวรรค์
จังหวัดนครสวรรค์เป็นเมืองโบราณ สันนิษฐานว่า ตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยปรากฏชื่อในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เรียกว่า “เมืองพระบาง” เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่กรุงสุโขทัย อยุธยา กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองเดิมตั้งอยู่ในที่ดอนบริเวณเชิงเขาขาด ( เขาฤาษี ) ลงมาจดวัดหัวเมือง ( วัดนครสวรรค์ ) มุมเมืองอยู่ตรงวัดนั้น ยังมีเชิงดินซึ่งเป็นแนวกำแพงเมืองเดิมอยู่
ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เล่ม ๑ ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ และสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า
“ แผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพระงัว )....ศักราช ๗๓๓ ปีกุน ตรีศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองฝ่ายเหนือ และได้เมืองเหนือทั้งปวง ศักราช ๗๓๔ จัตวาศก เสด็จไปนครพังคา และเมืองแซงเทรา....”
นครพังคาที่กล่าวในพงศาวดาร น่าจะหมายถึงเมืองนครสวรรค์นั่นเอง เมื่อได้เมืองพังคาแล้ว ได้โปรดให้พระราชบุตรบุญธรรมชื่อ “พระยายุธิษฐิระ” มาครอง มีศักดิ์เป็นเมืองประเทศราช นครพังคานี้ตั้งอยู่บนเนินเขา ฤดูฝนน้ำท่วมไม่ถึง ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยานั่นเองต้องทิ้งให้เป็นเมืองร้าง เพราะแม่น้ำตรงหน้าเมืองเกิดหาดทราย ถึงฤดูแล้งก็กันดารน้ำจนชาวเมืองต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น โดยไปตั้งเมืองอยู่ที่หมู่ ๒ ตำบลนครสวรรค์ออก ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งตัวเมืองอยู่บริเวณวัดถือน้ำ ตัวเมืองตั้งอยู่เฉียงตะวัน หรือชอนตะวัน ทำให้แสงตะวันส่องเข้าหน้าเมือง จึงเรียกว่า “เมืองชอนตะวัน” หรือ “ทานตะวัน” บางทีก็เพี้ยนเป็น “ชอนสวัน” ( ชอนสะหวัน )
ต่อมาทางราชการเห็นว่า การตั้งตัวเมืองทางฝั่งตะวันออกไม่เหมาะสม จึงย้ายมาตั้งในที่ปัจจุบัน ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือที่หมู่ ๙ ตำบลนครสวรรค์ตก และได้เปลี่ยนชื่อใหม่ ให้เป็นมงคลนามว่า “นครสวรรค์”
ตามตำนานพระแก้วมรกตกับพระบาง ว่าเดิมนครสวรรค์มีชื่อว่า “พระบาง” มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยกรุงธนบุรี เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ยกกองทัพไปตีเวียงจันทน์ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปสององค์ คือพระแก้วมรกตและพระบาง มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ต่อมาเมื่อพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก นันทเสนบุตร เจ้าเมืองเวียงจันทน์ ได้กราบทูลว่า” ตามความนับถือของชาวลานช้าง ( ลาว ) ว่าพระทั้งสององค์นี้มีผีหรือเทวดารักษาอยู่ หากผีหรือเทวดาของพระพุทธรูปทั้งสององค์ไม่ถูกกันแล้ว ถ้านำมาไว้รวมกัน ณ เมืองใดเมืองหนึ่งจะทำให้เกิดอาเพศ ข้าวยากหมากแพง ฉะนั้นจึงควรอัญเชิญพระบางกลับไปเวียงจันทน์เสียองค์หนึ่ง พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงได้อัญเชิญพระบางกลับยังเวียงจันทน์
ครั้นเดินทางมาถึงนครสวรรค์ ได้ข่าวศึกพม่า จึงได้นำพระบางมาประดิษฐานไว้ ณ เมืองนครสวรรค์ชั่วคราว
ในการทำศึกกับพม่าครั้งนั้น พระองค์ได้ดัดแปลงค่ายคูประตูหอรบ จากตะวันตก ตั้งแต่ตลาดสะพานดำไปบ้านสันคูถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ยังปรากฏแนวคูอยู่ที่บ้านสันคู เมื่อพม่าข้าศึกยกทัพลงมาจากทุ่ง สลกบาตร หนองสังข์ หนองเบน ลงมาเหนือทุ่งสันคูซึ่งเป็นที่ดอนขาดน้ำครั้นพอฝนตกลงมา นำหลากเข้าอย่างแรง ทำให้น้ำท่วมข้าศึกกองทัพไทยยกเข้าตีตลบหลัง กองทัพพม่าหนีผ่านทางช่องภูเขา เนื่องจากพม่ายกทัพมาครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก จึงเหยียบก้อนหินที่ภูเขานั้นพังทลายลง กลายเป็นช่องเขาขาด เรียกว่า “โกรกพม่า”หรือ “เขาขาด” มาจนทุกวันนี้
ส่วนที่เรียกว่าปากน้ำโพนั้น มีข้อสันนิษฐานอยู่ ๒ ประการดังนี้
๑. ที่สุดของแม่น้ำปิงตรงที่พบกับแม่น้ำแควใหญ่ มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ที่ริมตลิ่งใกล้วัดโพธาราม ประชาชนจึงเรียกกันว่า “ปากแม่น้ำโพธิ์ “ ต่อมาค่อยๆกร่อนกลายเป็น “ ปากน้ำโพ”
๒. แต่ก่อนนี้ไม่มีถนนและทางรถไฟ การไปมาจากจังหวัดภาคเหนือ ลงไปกรุงเทพฯใช้เรือขุดขนาดยาว เรียกว่า “เรือหางแมงป่อง”ขึ้นล่องผ่านไปมาตลอดเวลา พอล่องเรือโผล่ที่บรรจบสองแม่น้ำ ซึ่งเป็นที่เวิ้งว้างกว้างขวาง คือที่เกิดแม่น้ำเจ้าพระยา พวกชาวเรือซึ่งเป็นชาวเหนือ พูดภาษากลางไม่ค่อยชัด ได้เรียกที่ตรงนี้ว่าถึง “ปากน้ำโผ่” แล้ว คนทั่วไปเลยเรียกกันว่า “ปากน้ำโผ่” หรือ “ปากน้ำโผล่” และค่อยกลายเป็น “ปากน้ำโพ” ในที่สุด